เปิดหัวใจ “ชิโมจิ โช”! ไทยลีกให้ประสบการณ์ที่ล้ำค่า ขอบคุณ FCคนไทย ที่สนับสนุน
DST.Exclusive : นับเป็น “นักเตะสายเลือดซามูไร” อีกคนที่ข้ามน้ำ ข้ามทะเล เข้ามาค้าแข้งในไทย อยู่ใน ไทยลีก 2 สำหรับ “ชิโมจิ โช” นักเตะตัวรุก ที่ก่อน ฤดูกาล 2018 จะปิดฉาก เขายิงประตูปิดท้าย ให้กับต้นสังกัด อย่าง “ยักษ์แสด – อุดรธานี เอฟซี” เอาชนะ “กระบี่ เอฟซี” ไปได้
กับ “โช” เขาเป็นนักเตะแดนอาทิตย์อุทัย ที่เดินสายค้าแข้งแผ่นดินสยาม ถึง 6 ปี เคยเป็นนักเตะหลายสโมสร ทั้ง “บีอีซี เทโรศาสน”, เพื่อนตำรวจ, “ชัยนาท ฮอร์นบิล” และ ล่าสุด “อุดรธานี เอฟซี”
กับผลงานของเขาในไทยตั้งแต่ ฤดูกาล 2013 จนถึงปัจจุบัน ทำประตูทั้งหมด 48 ประตู แถมยังมีพาต้นสังกัด ได้แชมป์ลีก และ คว้าตั๋วเลื่อนชั้นมาแล้ว
แม้ฤดูกาล 2018 ล่าสุด ผลงานของเขาจะไม่เปรี้ยงปร้าง เหมือนสมัยแรกๆ แต่ด้วยทักษะ และ ประสบการณ์ฟุตบอลระดับอินเตอร์ ช่วยทำให้ทีมยืนระยะที่น่าพอใจ
แต่กว่า “นักเตะซะมูไร วัย 33 ปี” จะมาถึงจุดนี้ รู้หรือไม่ว่า เข้าต้องฝ่าฝันความยากลำบากอย่างแสนสาหัส แม้เขาจะพยายามอย่างดีที่สุด แต่เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เขายัง “ตกงาน” ไม่มีสโมสรไหนรับเข้าสังกัด จนต้อง ผันตัวเอง ไปเป็น พนักงานไนท์คลับ
“ผมเป็นนักเตะตกงาน หลังกลับมาจากค้าแข้งลีกของประเทศบราซิล พอกลับญี่ปุ่น ไม่มีทีมไหนสนใจผม และช่วงนั้นผมต้องการหารายได้เพื่อดูแลครอบครัวของผม งานที่ผมทำ คือ บ๋อยในร้านไนท์คลับ ดีๆ นี่เอง ผมทำอยู่ประมาณ 6 เดือน”
แต่ระหว่างที่ได้งานทำ เพราะความจำเป็น เขายังไม่ละทิ้งเรื่องฟุตบอล และตามหาโอกาส จน “เอเย่นต์” ของเขาบอกว่า มีประเทศหนึ่งที่น่าจะเหมาะกับเขา คือ ประเทศไทย ซึ่งเขาไม่ลังเลอะไรทั้งนั้น หอบกระเป๋า พาครอบครัวมาคัดตัวที่กรุงเทพฯ และได้รับเลือก โดยสโมสรไทยที่ให้โอกาสเขา คือ “บีอีซี เทโรศาสน” เมื่อปี 2013
กับจุดโดดเด่นของเขา เชื่อแน่ว่า คงไม่ใช่เพราะเป็นคนญี่ปุ่น ประเทศที่ได้ชื่อติดอับดับต้นๆ ด้านฟุตบอลแถบเอเชีย แล้วอะไรหละ? ที่ทำให้นักเตะที่ล้างสนามไปกว่า 6 เดือน ได้รับเลือก
หากพลิกดูประวัติ ค้าแข้งของ “โช” คงจะไม่แปลกใจนัก เพราะประสบการณ์ที่เขาเลือก เดินทางไกล ค้าแข้งในประเทศมหาอำนาจลูกหนัง แถบแอฟริกา ถือเป็นแต้มต่อ
และจากประสบการณ์เหล่านั้น ทำให้เขาได้มุมมองที่ดีเยี่ยม สำหรับการพัฒนาตัวเอง เพื่อให้อยู่รอดบนลีกฟุตบอลที่แข่งขันกันสูง
กับสนามแรก “เจ-ลีก” เขาเริ่มเล่นบอลอาชีพ เมื่อปี 2008 สโมสรต้นสังกัด คือ “สากัน โทสุ” แม้สนามนี้จะเป็นบ้านตัวเอง แต่เขาบอกว่า ต้องแข่งขันกันสูง และสู้กันแบบเอาเป็นเอาตาย และบ้าคลั่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “วัฒนธรรมเลือดซามูไร”
ซึ่ง “โช” ถ่ายทอดมุมมองไว้ว่า ผู้เล่นต้องฝึกฝนที่ยิ่งกว่าคำว่า อย่างหนักเพื่อให้เป็นผู้เล่นที่มีคุณภาพสูง เพราะที่ประเทศญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับการทำงานและฝึกฝนให้หนัก เพื่อทีม เพื่อโค้ช เพราะวัฒนธรรมของประเทศ ที่หากใครดูหนังจะรู้ว่าบทบาทของซามูไรในประเทศญี่ปุ่นมีมาก ซึ่งคนที่จะได้ชื่อว่าเป็นซามูไรได้ มีชีวิตอยู่อย่างเดียว คือ ทำงานเพื่อพระมหากษัตริย์และประชาชนในประเทศ
“ฟุตบอลที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ไม่ต่างกันกับ ความเป็นซามูไร ต้องทำงานหนัก ต้องทุ่มเท เพื่อสโมสรและแฟนบอล”
ประเทศต่อมาคือ “ปารากวัย” ที่แม้เป็นประเทศเล็กๆ ในทวีปแอฟริกา แต่จากประวัติ พวกเขาพาทีมชาติปารากวัยไปสู่เกมแข่งขันระดับโลก ถึง 3 ครั้ง (ปี 1986,1988 และ 2002) และยังเคยเป็นแชมป์โคปาอเมริกา เมื่อปี 1953 และ 1979 ดังนั้นลีกที่ปารากวัย จึงท้าทายสำหรับ “โช” เช่นกัน
กับสโมสรฯ ที่ต้อนรับเขา คือ สโมสรสปอร์ติโว่ ลูกัวโน่ ถือเป็นลีกในทวีปแอฟริกาที่สอนให้เขา เอาชนะคู่แข่งตัวโต ได้ความตัวเล็ก เนี่ยแหละ!!
“ลีกที่ปารากวัย เขาเน้นศักยภาพของร่างกาย ดังนั้นนักกีฬาต้องแข็งแรง ด้านร่างกายและจิตใจ หากให้ผมมองถึงปัจจัยด้านลึก อาจเป็นเพราะว่าประเทศปารากวัยเป็นประเทศเล็ก ที่อยู่ระหว่าง บราซิล และ อาเจนตินา ประวัติศาสตร์ของเขา คือ เขาอยู่ตรงกลางประเทศใหญ่ที่ต้องการอาณานิคม ดังนั้นปารากวัยต้องสู้เพื่อรักษาประเทศและทรัพยากร ส่วนฟุตบอลก็เช่นกัน เมื่อเขาถูกประเทศใหญ่มหาอำนาจลูกหนังประกบหัว ประกบท้าย นักเตะของชาติต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ ว่า เขาก็คือประเทศที่ดีเยี่ยมไม่แพ้ใคร”
กับอีกสิ่งที่ “นักเตะเลือดซามูไร” ที่ค้าแข้งในถิ่นแอฟริกา ที่ล้วนมีนักเตะ ตัวล่ำ สูงใหญ่ และ มีพละกำลังมหาศาล ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า การเอาตัวรอดจาก วงล้อมของ นักเตะตัวโต คือ “ใช้สมองให้มากกว่าการปะทะ” และสิ่งที่เขาได้เรียนรู้อย่างหนักคือ การทำให้จุดที่เขาเสียเปรียบ กลายเป็น โอกาสที่พาทีมคว้าชัยชนะ
แม้ “โช” จะอยู่กับ สโมสรสปอร์ติโว่ ลูกัวโน่ ได้ไม่นาน คือ ช่วงต้นปี 2011 และลงแข่งไป 20 นัด แต่ความไม่หยุดพัฒนา เขาจึงไปต่อที่ ลีกในประเทศมหาอำนาจลูกหนัง อย่าง “บราซิล” โดยเล่นให้กับ ลิเนนเซ่ ช่วงปลายปี 2011 ต่อด้วย สโมสรอาเกีย เนกรา ช่วงครึ่งแรกของปี 2012
“คนบราซิลชอบเล่นฟุตบอลมาก จึงมีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านเทคนิค และใช้สติปัญญา ดังนั้นเวลาเห็นนักบอลบราซิเลี่ยน แข่งขัน นอกจากการมุ่งสู่ชัยชนะแล้ว คือ การแสดงความสามารถพิเศษออกมาด้วย”
ดังนั้นในช่วงที่เขาต้องปรับตัวให้เข้ากับ สไตล์ฟุตบอลบราซิลเลี่ยน จึงเป็นงานยากพอดู ช่วงเวลาของเขานั้นมีทั้งดี และร้ายปะปน แต่สิ่งที่ทำให้เขาได้เรียนรู้อีกระดับ คือ “ฉลาดเล่น” และ “เป็นตัวความหวัง” ที่เพื่อนร่วมทีมวางใจได้ เมื่อส่งบอลมาถึง หรือจังหวะอื่นๆ ของฟุตบอลในสนาม
ขณะที่ประสบการณ์ใน “ไทยลีก” ที่เขาใช้เวลายืนระยะถึง 6 ปี เขามองว่า ไทยลีกเติบโตมาก แม้ก้าวแรกของเขาในเมืองไทย สโมสรฯ จะเลือกนักเตะที่มีประสบการณ์สูง แต่มาถึงตอนนี้ คือ เขาต้องการผู้เล่นที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ และมีแรงบันดาลใจ
และ สโมสรต้นสังกัดล่าสุด คือ “อุดรธานี เอฟซี” แม้ตอนนี้ยังไม่มีการเจรจาว่าจะต่อสัญญาให้หรือไม่ แต่ “นักเตะเลือดซามูไร” ยังใฝ่ฝันที่จะเป็น “นักเตะ” ต่อไป ขณะเดียวกันลองมองหาช่องทางอื่นๆ ร่วมด้วยแต่ยังคงอยู่ในแวดวง ฟุตบอล ทั้งเป็นทีมงาน หรือ เส้นทางของโค้ช
บทส่งท้ายของ “ชิโมจิ โช” เขาขอขอบคุณแฟนบอลชาวไทย ทุกๆ คนที่สนับสนุนเขาตลอด 6 ปี ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะเขาถือว่า แรงเชียร์ เสียงสนับสนุนของแฟนบอล เป็นพลังที่คอยเตือนใจว่า อย่าเพิ่งย่อท้อกับอุปสรรคที่เจอ เพราะเป้าหมายของเขายังรออยู่ ซึ่งเป้าหมายของเขานั่นก็คือ การทำงานเพื่อสโมสร, แฟนคลับ, ครอบครัว และ แรงปรารถนาของตัวเองบนเส้นทาง ฟุตบอลอาชีพ.
ขอบคุณ สโมสรอุดรธานี เอฟซี , FB : Sho Shimoji
By : Blacksugar