• Home
  • Special Report
  • “หมอสนาม” ลมใต้ปีก นักเตะ ไม่มี “พวกเขา” เราไม่ถึงจุดหมาย

“หมอสนาม” ลมใต้ปีก นักเตะ ไม่มี “พวกเขา” เราไม่ถึงจุดหมาย

By on August 13, 2018 0 723 Views

DST.Special : ความสำเร็จของนักฟุตบอลอยู่ตรงไหน?

“……………………...”

เชื่อว่า คำตอบที่อยู่ในใจของคุณตอนนี้ คือ “รางวัล” – “เก็บ3แต้ม” – “เป็นแชมป์บอลลีก” ทั้งหมดคือ ถูกต้อง

แต่จะมีใครรู้หรือไม่ว่า เบื้องหลังของความสำเร็จเหล่านั้น นอกจากการฝึกซ้อมอย่างหนัก ยังมี “คนเบื้องหลัง” ที่หนุนให้ “นักบอล” ก้าวไปสู่ความสำเร็จ

วันนี้ DST.-DailySoccerThailand จะพาไปทำความรู้จัก “กลุ่มคนเบื้องหลัง” ที่เราแทบไม่เห็นเขา ยกเว้น ตอนนักเตะบาดเจ็บ หรือ ล้มลงกลางสนาม พวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่วิ่งเข้าไปช่วย

“หมอสนาม” คือ คำนิยามที่ขอใช้ในตอนนี้ แต่ในพื้นที่จริง พวกเขาคือ นักกายภาพบำบัดฝีมือฉกาจ เบื้องหลังความฟิตและแข็งแรงของนักเตะ

หากใครจะคิดว่า “หมอสนาม” คือ เครื่องเคียง คนที่จบสาย “หมอ-นักกายภาพ” ก็เข้ามาทำได้ ถือว่า เข้าใจผิด เพราะพวกเขาต้องทำงานหนัก ไม่แพ้นักเตะในทีม

“24ชั่วโมง คือ เวลาที่เราต้องทำงาน ทั้งดูแลนักเตะ และ คิดถึงแผนการรักษา การฟื้นฟู และ ดูแลอาการบาดเจ็บนักเตะในสังกัด” หมอส้ม – สวิตา ธรรมวิถี นักกายภาพประจำทีมสโมสรฟุตบอลราชบุรี มิตรผล เอฟซี บอก

เหตุผลที่ต้องทำถึงขนาดนั้น ส่วนหนึ่งคือ “หน้าที่” แต่จุดสูงสุด คือ “ความรับผิดชอบ” ฐานะผู้ดูแลชีวิต

“เราต้องคิด และวิเคราะห์ตลอดเวลา รวมถึงต้องวางแผนให้ความรู้กับนักเตะในทีมด้วย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บ หรือ เมื่อเจ็บ จะทำตัวอย่างไรให้ร่างกายฟื้นฟูเร็วที่สุด กลับมาเล่นได้อีก งานนี้เรียกว่าทั้งหนัก และเหนื่อยนะ แต่สนุก เป็นความท้าทาย ความสำเร็จในงานของเรา คือ ได้เห็นทีมประสบความสำเร็จในเกม และ ไม่มีใครบาดเจ็บ” หมอส้ม ระบุ

เช่นเดียวกับ “หมอบิว – ภูนัตถ์ ธงฉัตรวิลัย นักกายภาพบำบัด ประจำสโมสรสุโขทัย เอฟซี” ที่ตัวเขาเองถูกเรียกว่า “หมอสายฮา” เพราะชอบสร้างเสียงหัวเราะให้กับทีมนักเตะ แต่จริงๆ บทบาทของเขาเป็นมากกว่านั้น

“หน้าที่หลักๆ ของผมและพี่ๆ ในทีม คือ วินิจฉัยอาการบาดเจ็บของนักเตะ ฟื้นฟูนักเตะที่ร่างกายบาดเจ็บในทีม แต่หลายครั้งต้องเป็น หมอผู้รักษาและเยียวยาจิตใจนักกีฬาด้วย อย่างที่เคยเจอมา คือ นักเตะมีภาวะท้อแท้ ทั้งจากที่ไม่ได้ลงเล่น หรือ เล่นแล้วผลไม่ชนะ เราถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างแรงกระตุ้น แรงจูงใจให้นักเตะกลับมาโฟกัสกับสิ่งที่ทำ กับหลายทีมที่ผมเคยไปช่วงดูแล ทั้ง ขอนแก่นยูไนเต็ด, น่าน เอฟซี , เชียงใหม่ เอฟซี ก่อนจะมาอยู่กับทีมสุโขทัย เอฟซี เจอสภาพสารพัด เราต้องช่วยบิวท์ให้เขามีแรงฮึด ใช้เทคนิคทางจิตวิทยาทุกรูปแบบเพื่อให้เขากลับมา” หมอบิว เล่า

แต่หลายครั้งที่หมอบิว พยายามบิวท์ให้นักกีฬากลับมายืนในจุดที่ควรจะเป็น กลับเป็นภาวะกดดัน และท้าทายใหม่ของอาชีพ “หมอ” เพราะมักมีภาวะแทรกซ้อน ที่ส่งผลถึงร่างกาย หรืออาการบาดเจ็บ

“ผมเคยเจอเคสหนึ่งที่อาการบาดเจ็บไม่มาก แค่กล้ามเนื้อต้นขาอักเสบ ต้องรักษานาน 4 เดือนครึ่ง ทั้งที่อาการนี้ รักษาเพียง 1เดือนก็หายแล้ว มารู้ทีหลังว่าเขาเป็นคนขี้กังวล และมีภาวะท้อแท้ ผมต้องกระตุ้นทั้งจิตใจและรักษาอาการบาดเจ็บ ผมแอบดูนะว่าทำไมเขาไม่หายสักที จนรู้ว่าด้วยความขี้กังวลเขาจะขยี้ตรงที่เจ็บตลอดเพราะคิดว่าจะหายไว แต่ที่ไหนได้ อาการไม่หาย ผมจึงบอกให้หยุด และใช้แผนรักษาเดิม พร้อมเยียวยาจิตใจไปด้วย จากนั้น 2สัปดาห์ต่อมาอาการเจ็บก็หายไป กลับมาลงสนาม ลงแข่งได้”

ดังนั้น ความเห็น “หมอสนาม” จึงมีความครบรส และไม่ใช่แค่ แก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า ที่นักเตะมีอาการบาดเจ็บเท่านั้น แต่ต้องมองให้ลึกถึงข้างในจิตใจนักเตะ

ซึ่งเคล็ดลับนี้ ได้รับการยืนยันเช่นเดียวกับ “หมอนีล – ณัฐษกรณ์ ทรงพรวาณิชย์” นักกายภาพฯ ประจำทีมมังกรโล่เงิน – โปลิศ เทโร เอฟซี ที่เธอถูกน้องๆ ให้ฉายาว่า “หมอนีลจอมโหด” ทั้งที่ตัวเธอออกจะบอบบาง และเป็นสาวหมวยสดใส

“เราภูมิใจกับฉายานะ เพราะหากจะทำให้น้องๆ ในทีมกลัวเราได้ เพราะจะง่ายกับการรักษามากๆ หากนักเตะไม่เชื่อเราเลย จะทำงานลำบาก สำหรับสไตล์การทำงานของนีล คือ ดุเป็นดุ บอกให้ทำอะไรต้องทำ เพราะเขาต้องการหายเร็ว ส่วนเราคือ ต้องตอบโจทย์จุดนั้น บางครั้งใช้แรงมือไม่ทันใจ มีลงเท้าบ้างสำหรับบางคนที่มีอาการเส้นตึงมากๆ”

แต่สิ่งที่ “หมอนีล” ทำมาดดุ ทั้งหมดคือ ความใส่ใจ และลงรายละเอียด กรณีที่อยู่เป็นผู้หญิตัวเล็ก ที่อยู่ในดงผู้ชายเฮี้ยวๆ – กวนๆ ต้องรู้จัก และไล่ให้ทัน และนอกจากงานรักษา ฟื้นฟูร่างกายแล้ว หน้าที่สำคัญที่เธอทำ คือ การให้คำปรึกษาด้านการกิน การนอน และดูแลตัวเองกับนักเตะ โดยทำงานควบคู่ไปกับโค้ชฟิตเนส

“เราจะทำหน้าที่คอยเตือนนักเตะ เช่น บางคนแข่งเยอะ แนะให้เขาเล่นเวทเสริม เตือนด้วยว่าหากไม่เล่นจะมีอาการบาดเจ็บส่วนไหนได้บ้าง จะปวดเข่า กล้ามเนื้อจะหายไปบ้าง บางคนไม่ฟังนะ เราบอกไม่เป็นไร แต่พอเจ็บนี่เป็นเรื่องเลย สุดท้ายเขาเป็นจริงๆ ก็มาบอก เราส่งต่อให้โค้ชฟิตเนสต่อ หรือบางคนเราเช็คแล้วว่า วิ่งอืด ส่งต่อให้โค้ชช่วยดูเรื่องน้ำหนัก ทำงานแบบนี้เหนื่อยนะ ทำตั้งแต่เช้าจนถึงดึกเกือบทุกวัน แต่ถือเป็นงานที่ภูมิใจ กับความสำเร็จที่มีตอนนี้ คือ นักเตะในทีม ไม่มีใครบาดเจ็บเลย ยกเว้นน้องที่เกิดอุบัติเหตุ มีปะทะแข้งในสนามแข่ง ต้องรอผ่าตัด” หมอนีล ระบุ

แต่กว่าที่ “หมอสนาม” จะพิสูจน์ฝีมือ ต้องใช้เวลาฝึกฝนและบ่มเพาะประสบการณ์ อย่าง “หมอนีล” กับ “หมอส้ม”เป็นนักกายภาพอาชีพ มากกว่า 11 ปี ส่วน “หมอบิว” ย่างเข้าสู่ปีที่ 6 ซึ่งจุดเริ่มต้นของ “หมอสนาม” แม้จะมาแตกต่างกัน อย่าง “หมอบิว” จุดเริ่มมาจากอดีตนักฟุตบอลที่ทิ้งความฝันบนลีกอาชีพ เพราะ “ไม่ชอบวิ่ง”

หรือ “หมอนีล” ที่มีจุดเริ่มจากความต้องการรักษาอาการป่วยของแม่ แต่พอเข้าสู่จุดที่ ต้องเป็น “ตัวช่วย” ให้นักเตะไปถึงฝั่งฝันของความสำเร็จบนเส้นทางนักเตะอาชีพ ทำให้ความพยายามในหน้าที่ เปลี่ยนเป็นความ ทุ่มเท

เพราะบทบาทของ “หมอสนาม” คล้ายกับร่วมแบกความฝันของ “นักฟุตบอล” ไปด้วย ดังนั้นต้องพยายามให้มากกว่าคนอื่นหลายเท่า ต้องทำการบ้านให้หนัก และ สะสมวิทยาการความรู้สมัยใหม่เพื่อช่วยดูแลสุขภาพนักเตะ

ถึงตอนนี้ “แฟนเพจDST.” มีใครเคยได้ยินข่าวบ้างหรือไม่ ที่ว่า มีนักบอลตายคาสนาม เพราะหัวใจวาย!!

แม้ในบอลไทยลีก จะยังไม่เกิดขึ้น แต่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาส งานนี้ “หมอส้ม” ฐานะผู้มีประสบการณ์ เล่าให้ DST. ฟังว่า เคยเจอมากับตัว วันนั้นอากาศร้อน นักเตะซ้อมอยู่ดีๆ ล้มกลางสนามบอล เหมือนคนมาถอดปลั๊ก แต่โชคดีที่หัวใจไม่หยุดเต้น จากนั้นช่วยปฐมพยาบาล และกลับมาเป็นปกติ แต่ต้องใช้เวลาพัก 2-3 วันเพราะตอนล้มหัวฟาดพื้นอย่างแรง

ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน “หมอส้ม” ได้เข้าอบรมเพื่อเสริมความรู้และทบทวนวิชาการด้านแพทย์ การช่วยชีวิต ที่การกีฬาแห่งประเทศไทยจัดขึ้น เพื่อเติมเต็มและทบทวนวิชาทางการแพทย์ และกลับมาทำหน้าที่ของบทบาท “หมอสนาม” ให้ดีที่สุด

กับความทุ่มเทของ “หมอสนาม” ที่ต้องแบกรับ “ชีวิต” ของนักเตะที่มีความฝันในอาชีพ และ มีภารกิจพิชิตชัย

หาก จะเปรียบ “หมอสนาม” เป็นลมใต้ปีกนักเตะ ให้บินสูงและเป็น “จิ๊กซอว์” ชิ้นสำคัญทำให้ทีมประสบความสำเร็จ ก็คงไม่ผิด.

เรื่องโดย Blacksugar
ขอบคุณ : สโมสรโปลิศ เทโร เอฟซี, สุโขทัย เอฟซี, ราชบุรี มิตรผล เอฟซี

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *